สิทธิมนุษยชนอาเซียนอยู่ไหน เมื่อคนเห็นต่างจากรัฐถูกอุ้มหาย…

สำนักข่าวอิศรา: 15 ธันวาคม 2013

131256จากวันที่ “สมบัด สมพอน” นักพัฒนาอาวุโสชาวลาว ได้หายตัวไปจากกรุงเวียงจันทร์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 ก็ล่วงเวลามา 1 ปีแล้ว ที่เราต่างเชื่อกันว่า เขาเป็นเหยื่ออีกหนึ่งรายที่ถูกบังคับให้หายสาบสูญไปโดยน้ำมือของเจ้า หน้าที่รัฐ เฉกเช่นเดียวกับนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกบังคับหายไปจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วนั้นเอง

การถูกบังคับให้หายตัวไปของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมทั้ง 2 ราย ถือเป็นการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากคนของรัฐ เพียงเพราะพวกเขาทำงานเพื่อประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ อีกทั้งครอบครัวผู้สูญหายยังต้องเผชิญกับการเพิกเฉยจากรัฐในการติดตามผู้ กระทำความผิดมาลงโทษ ซึ่งขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

พันธมิตรองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ มองเห็นปัญหาที่อนาคตจะมีการเปิดการค้าเสรีอาเซียน และตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมของไทยและลาวที่ล้วนแต่เป็นสมาชิกสมาคม อาเซียน และไม่ต้องการให้รัฐมุ่งหน้าเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวไกล และปล่อยให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงให้มีการจัดงานเสวนาเพื่อเรียกร้องให้รัฐดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ที่ถูกต้อง

จากคำบอกเล่าของผู้เคยร่วมทำงานกับ “สมบัด สมพอน หรือ อ้ายสมบัด” จากกรณีที่เขาหายตัวไปนั้น หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเป็นคนดีที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมมาโดยตลอด เชื่อว่า การหายตัวไปครั้งนี้เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่พอใจที่เขาทำงานเพื่อ ประชาชน ซึ่งขัดต่อผลประโยชน์ของรัฐเองจึงถูกบังคับหายตัวไป และเห็นชัดเจนจากหลักฐานในกล้องวงจรปิด ที่เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวออกจากรถยนต์ส่วนตัวแล้วนำขึ้นรถอีกคันขับ ออกไป

หลังจากนั้น อ้ายสมบัด เขาไม่เคยกลับมาอีกเลย “เราพยายามติดตามส่งเรื่องไปยังรัฐบาลลาวก็ไม่มีการจัดการใดๆ ซ้ำร้ายองค์กรระหว่างประเทศก็ไม่มีใครออกมาดำเนินการอะไรเลย เหมือนมีกฎหมายแต่ไม่มีการปฏิบัติ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนก็รู้จักกับอ้ายสมบัดเป็นอย่างดี พวกเขาทุกคนต่างรอความหวังว่า วันหนึ่งอ้ายสมบัดของพวกเขาจะกลับมาอย่างปลอดภัย”

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ภรรยาทนายสมชาย กล่าวถึงการหายตัวไปของสามีเธอว่า สมชายเป็นนักกฎหมายที่พยายามช่วยเหลือสังคม และเข้าใจว่า วิชาชีพกฎหมายนั้นต้องเผชิญหน้ากับตำรวจเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก่อนถูกลักพาตัวไป เขาได้ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกจับใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย 5 คน

ภรรยาทนายสมชาย เล่าต่อว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วเธอเองก็ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายหรือเรื่องสิทธิมนุษยชนอะไรเลย จนสามีหายตัวไป จึงเริ่มศึกษาดูว่า แนวคิดอะไรพอทำได้บ้าง เพราะเราอยู่เฉยไม่ได้แล้วในเมื่อประเทศไทยไม่สามารถให้ความเป็นธรรมได้ ต้องไปใช้กลไกระหว่างประเทศในอาเซียน และได้มีการพูดคุยกันจนมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาสำหรับคนในอาเซียนทั้งหมด

“เรามีระบบยุติธรรมที่อ่อนแอ ขาดเจ้าหน้าที่ที่จะคุ้มครองเหยื่อ”

อย่างไรก็ตาม คดีของสมชายที่หายไปก็เป็นคดีแรกที่ถูกอุ้มหายไปในประเทศไทย กรณีนี้โด่งดังไปทั่วโลก และกระบวนการยุติธรรมของไทยล่าช้า ไม่จริงใจ ขาดศีลธรรม  คอร์รัปชั่นของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เราลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศไปหลายอย่าง แต่คนผิดก็ยังลอยนวลจนถึงวันนี้

“ขณะนี้คดีของสมชายที่อยู่ในการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ก็ได้รับแจ้งมาว่า มีผู้ชุมนุมบุกเข้าไปขโมยคอมพิวเตอร์และแฟ้มคดีของสมชายได้หายไปด้วย เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมต้องหายไปแค่คดีสมชาย หรือเป็นเพียงข้ออ้างที่ต้องการจะยุติคดี

ขณะนี้นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการบังคับให้หายไปนั้น ถือเป็นการทำร้ายประชาชน เพราะไม่ว่าแต่ละประเทศจะมีการปกครองแบบใด การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนต้องมาเป็นอันดับแรก และแนวทางการทำงานของรัฐก็ต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช้เพื่อนายทุนหรือตัวรัฐเอง

“สมบัด และสมชาย ทั้งสองอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาล แสดงให้เห็นถึงการผูกขาดทางความคิดของรัฐ และการให้สัมปทานต่างๆ รัฐต้องรับฟังเสียงประชาชน”

กรรมการสิทธิฯ กล่าวด้วยว่า จากประสบการช่วงที่ดำรงตำแหน่งวุฒิสภา ก็เคยทำหน้าที่ติดตามผู้หายตัวไปเพราะเรื่องการเมือง และคดีก็มีความคืบหน้าในเรื่องการติดตามตรวจสอบและเอาความจริงมาปรากฏเพื่อ นำคนทำผิดมาลงโทษ แต่กรณีนี้ที่คดีไม่คืบหน้าเพราะบุคคลที่สูญหายถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาลที่มีนโยบายในการปราบปรามประชาชน แต่พอนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วคดีไปค้างอยู่ที่ดีเอสไอ

หลายเรื่องที่สังคมรับรู้ว่า ใครเป็นผู้กระทำผิด แต่คนทำหน้าที่ต่างหากที่ไม่ยอมทำตามที่กฎหมายกำหนด

นพ.นิรันดร์ จึงมีข้อเสนอว่า พลังจากภาคประชาชนในการต่อสู้เรื่องสิทธิเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันชอบธรรม สิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรม

ด้านพับโล โซลอน (Pablo Solon) ผู้อำนวยการ FOCUS on the Global South ผู้ที่สูญเสียพี่ชายไปกับการถูกบังคับให้หายไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศโบ ลีเวีย เมื่อ 40 ปีที่แล้ว  เล่าถึงครอบครัวของเขาที่ใช้เวลา 10 ปี ต่อสู้ แสวงหาหนทางมาโดยตลอด กระทั้งมีการตั้งสหพันธ์ในการรณรงค์ให้เกิดอนุสัญญาเพื่อปกป้องคนถูกให้ หายตัวในละตินอเมริกา และในที่สุดก็มีการร้องต่อศาลยุติธรรมฟ้องรัฐบาลโบลีเวีย ซึ่งใช้เวลานานถึง 16 ปี ศาลสหรัฐฯ ก็ตัดสินว่า รัฐบาลโบลีเวียทำผิดจริงและดำเนินคดีต่อไป รวมถึงการเยียวยาผู้ถูกบังคับให้หายตัวด้วย”

กรณี “สมบัด” ไม่ว่า เขาจะเป็นคนดี หรือไม่ดี ก็ไม่มีเหตุผล ไม่มีสิทธิ ที่รัฐจะพาตัวเขาให้หายไปได้ ทุกคนมีสิทธิของตัวเอง แต่กลับถูกล้มล้างไปด้วยการก่ออาชญากรรมการอุ้มหาย “ผมยังเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งในประเทศลาวจะเกิดกลไกที่จะฟ้องร้องได้ เพราะปัจจุบันนี้หลายประเทศมีการยอมรับอนุสัญญาระหว่างประเทศแล้ว”

สุดท้ายเครือข่ายเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขง โดยนายกฤษฎาธาร พันทวัน เล่าว่า า เหตุการณ์ที่ลุงสมบัดหายไปนั้นตนทราบข่าวจากเพื่อนที่เป็นลูกน้องเก่าของ ท่านหลังจากที่หายไปได้ 3 วันแล้ว จากนั้นจึงเริ่มติดตามหาว่า หายไปได้อย่างไร ซึ่งก็ได้มีการกลับไปทำกิจกรรมที่ประเทศลาว พยายามทำหลายวิธีเพื่อกดดันรัฐบาลลาว เช่น การทดลองสวมเสื้อที่สกรีนภาพสมบัด และระบุข้อความ “PLEASE RETURN SOMBATH SAFELY” แต่ปรากฏว่า ไม่มีใครสนใจ เพราะข่าวการสูญหายนี้ไม่ได้ไปถึงพวกเขา

“ใจหนึ่งก็อยากให้โดนจับ เผื่อจะทำให้มีอะไรเกิดขึ้น แต่ในอีกใจหนึ่งก็กลัวว่า หากโดนจับไปแล้วจะไม่สามรถออกมาทำอะไรต่อได้”กฤษฎาธาร เล่าย้อนไปถึงช่วงเวลานั้น

วิธีต่อมาที่เขาใช้ได้ผล โดยการใส่เสื้อตัวเดิมไปยืนถ่ายรูปหน้าที่ว่าการรัฐบาลลาว แล้วใช้สัญลักษณ์ ปิดหู ปิดตา “หากมีสามมือ ผมก็จะปิดปากด้วย แล้วส่งรูปมาในไทยเพื่อให้เพื่อนๆ ได้แชร์ ก็มีหลายเสียงบอกว่า ให้ทำลายคนๆ นี้ มาสร้างความวุ่นวายในลาว แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงบอกว่า รัฐบาลลาวไม่ใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย ทำให้เรารู้สึกว่า ก็ยังมีคนที่เห็นด้วยกับเรา และอยากได้เสื้อแบบเดียวกับเรา เพราะเขากล้าที่จะต่อสู้ไปกับเรา”

ตราบใดที่รอยยิ้มของลุงสมบัดยังอยู่ในเสื้อ กฤษฎาธาร บอกว่า เขายังมีความหวังที่จะได้ลุงคืนมา แต่หากว่า ลุงกลับมาไม่ได้ ก็ยังมีจิตวิญญาณของลุงที่จะกลับมาอยู่กับพวกเราที่ต่อสู้เพื่อเขา