จากทนายสมชายสู่อ้ายสมบัด 'อังคณา' ขอนานาชาติกระตุ้น รบ.ลาวเร่งหาความจริง

ประชาไท: 27 มีนาคม 2013

ครบ 100 วันการหายตัวไปของ ‘สมบัด สมพอน’ นักกิจกรรมลาว – ‘อังคณา นีละไพจิตร’ ชี้ข้ออ่อนปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ไม่อาจคุ้มครองคนใน ขอนานาชาติช่วยกระตุ้นรัฐบาลเร่งหาความจริง เพื่อนร่วมงาน ‘สมบัด’ เชื่อไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เชือดไก่ให้ลิงดู

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ-อังคณา นีละไพจิตร-ประทับจิต นีละไพจิตร

27 มีนาคม 56 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ร่วมกับ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนในประชาคมอาเซียน กรณีศึกษาการสูญหายของสมบัด สมพอน และสมชาย นีละไพจิตร มีผู้ร่วมเสวนาคือ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ภรรยาของนายสมชายผู้ถูกบังคับให้หายตัวไป ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 และนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ นักพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมผู้เคยร่วมงานกับสมบัด และผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาในลุ่มน้ำโขง ดำเนินรายการ โดย ประทับจิต นีละไพจิตร

ช่วงเริ่มต้นการเสวนา มีการอ่านแถลงการณ์ของ นางอ๋อง ชุย เม็ง ภรรยาของนายสมบัด นักพัฒนาชาวลาว ผู้ถูกบังคับหายตัวตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม  2555 นางอ๋อง ชุย เม็ง สื่อสารมาว่า ตนเองมีความทุกข์ทรมานต่อการหายตัวไปของสามีอย่างมาก และขอแสดงความเสียใจต่อนางอังคณา พร้อมทั้งแสดงความเคารพต่อความเข้มแข็งกล้าหาญในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม การหายตัวไปของสมบัดนั้น นางอ๋อง ชุย เม็งเห็นว่าเกิดขึ้นโดยการรับรู้ของตำรวจและเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องรับ ผิดชอบ ให้เขากลับมาอย่างปลอดภัย  แม้ในภายหลัง รัฐบาลได้ยืนยันว่าตำรวจพยายามหานายสมบัดอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ไม่พบ ตนเองก็จะยังเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐต่อไป เพราะไม่มีทางเลือกอื่นอีก

นาง อ๋อง ชุย เม็ง เห็นว่า การทำให้บุคคลสูญหายไป เป็นการสร้างความหวาดกลัวให้แก่บุคคลในชาติซึ่งมีความคิดความเชื่อ หรือทำกิจกรรมเพื่อต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม โดยอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากกลุ่มอาชญากรรม แต่อาจมาจากรัฐเอง เพื่อจะปิดปากพลเมืองที่ทำตัวมีปัญหากับรัฐ  การหายตัวไปของนายสมบัดทำให้เชื่อว่า เราไม่สามารถละเลยการละเมิดสิทธิ์ดังกล่าว เพราะคิดว่าเป็นเพียงเรื่องโชคร้ายของใครบางคน หากต้องยอมรับว่า การสูญหายโดยไม่สมัครใจเป็นอาชญากรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการกระทำที่ยังไม่ถูกลงโทษ ทั้งที่เป็นการปรามาสต่อหลักนิติรัฐ

ใน การเสวนา นางอังคณากล่าวถึงการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนว่า การเปิดอาเซียนจะทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจได้รับผลประโยชน์มาก แต่คนกลุ่มอื่นจะได้อะไร คนธรรมดา คนชนชั้นล่างๆ จะได้อะไรบ้าง นางอังคณามองว่า ภูมิภาคอาเซียนมีสิ่งงดงามอยู่ในสังคม ที่หาซื้อจากไหนไม่ได้ นั่นคือ ความเกื้อกูลแบ่งปัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน แต่เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิ์ การเข้าถึงความยุติธรรม ถือว่ายังเป็นรองภูมิภาคอื่นๆ

อย่างไรก็ตามแม้ว่า สมาชิกอาเซียนจะได้รับรองปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนไปแล้วตั้งแต่ปี 2555 แต่ในหลายๆข้อของปฏิญญาฯ ก็ยังไม่สอดรับกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล เช่น มาตรา 5 ระบุว่า “คนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการเยียวยาจากการกระทำอันละเมิดต่อสิทธิ์ซึ่งตน ได้รับจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลบังคับ อันกำหนดโดยศาล เจ้าหน้าที่หรือองค์กรรัฐที่มีอำนาจ จึงไม่ได้หมายความว่า บุคคลจะได้รับการเยียวยาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ”  อาจจะทำให้มองได้ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ ก็เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างปัจเจกบุคคล รัฐไม่ต้องรับผิดชอบใช่หรือไม่

มาตรา 7 ระบุว่า “สิทธิมนุษยชนทั้งมวลมีความเป็นสากลไม่สามารถแบ่งแยก พึ่งพาซึ่งกันและกัน และมีความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งมวลในปฏิญญานี้ต้องได้รับการปฏิบัติ อย่างยุติธรรมเท่าเทียมตลอดจนมีทิศทางเดียวกัน และการเน้นย้ำที่เท่ากัน ในขณะเดียวกัน การตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการพิจารณาในบริบทของภูมิภาคและของประ เทศโดยคํานึงถึงความแตกต่างของภูมิหลังทางการเมืองเศรษฐกิจ กฎหมาย สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และศาสนา” ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ว่าคนจะมีความเห็นต่างกันในทางการเมืองหรือศาสนา ทุกคนก็ต้องมีสิทธิในความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 8 ระบุว่า “สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนจะได้รับการปฏิบัติโดยคํานึงถึง สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้อื่น สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมาย กำหนด โดยกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์ในการยอมรับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ของผู้อื่น และเพื่อตอบสนองความมั่นคงของชาติ ระเบียบสาธารณะ สาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ ศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งสวัสดิการทั่วไปของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น”  ซึ่งข้อนี้พูดเรื่องความมั่นคงของชาติ แต่ไม่พูดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะคุ้มครองคน อาเซียนได้จริงหรือไม่

นางอังคณากล่าวถึงกรณีการถูกบังคับให้สูญหาย ของนายสมชายว่าเป็นกรณีแรกที่นำคดีขึ้นไปถึงศาลยุติธรรม เป็นคดีที่ทั้งเหยื่อและผู้สูญหายต่างเป็นบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม แต่การสอบสวนมีความไม่โปร่งใส ถูกแทรกแซงตั้งแต่แรก รัฐบาลก็ไม่เต็มใจที่จะค้นหาความจริง นางอังคณาจึงเห็นว่า ความช่วยเหลือระหว่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการที่ประเทศนั้นๆ จะตรวจสอบดูแลการถูกบังคับให้สูญหายของบุคคลซึ่งกระทำโดยรัฐ สหภาพยุโรปควรตั้งคำถามต่อรัฐบาลลาว เช่นเดียวกับที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาเคยหารือกับรัฐบาลไทยในกรณีนายสมชาย ไทยได้รับคำแนะนำจากหลายๆ ประเทศเรื่องนักสิทธิมนุษยชนถูกบังคับให้สูญหาย ก็เป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลต้องลงมือทำเพื่อแสดงความโปร่งใส เพราะรัฐเองก็ไม่อยากมีความกังวลหรืออับอายต่อนานาประเทศ

นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เล่าถึงบริบทสังคมการเมืองของลาวในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งน่าจะเป็น สาเหตุให้นายสมบัดหายตัวไป ว่า โดยปกติแล้วเกิดมาจากความขัดแย้งสี่ด้าน คือ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ คนที่ต่อสู้เพื่อส่วนรวมตกเป็นเป้าหมายและถูกฆ่าตาย แต่คนบงการฆ่าหลุดรอดไป เรื่องที่สองคือกลุ่มชาติพันธุ์ ที่รัฐพยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเกิดจากนโยบายเพื่อการพัฒนาหรืออะไร ก็ตาม สาม คือความขัดแย้งของขั้วอำนาจในสังคม  และสี่ เป็นความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรข้ามรัฐ เช่น โครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง นอกจากนี้แล้วประเทศลาวเองยังได้รับอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองทั้งจาก เวียดนาม จีน และไทย ซึ่งรัฐบาลลาวขายทรัพยากรให้ทั้งสามชาตินี้เข้าไปใช้ได้รวมถึงส่งออกมา เพื่อให้ทุนไหลเข้าประเทศลาว ในขณะที่การใช้ทรัพยากรเหล่านั้นก็ส่งผลกระทบต่อคนท้องถิ่น ต้องอพยพจากที่ทำกิน นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สมบัดซึ่งรณรงค์เรื่องที่สวนทางกับการพัฒนาของ รัฐต้องหายตัวไป

นายวิฑูรย์ระบุว่า แม้ว่าสมบัดจะไม่ได้พูดประเด็นใหญ่ๆ ที่ท้าทายอำนาจรัฐมากนัก เช่น ทำเรื่องการศึกษา การปรับวิถีชีวิต เรื่องความสุขมวลรวม เน้นความสุขมากกว่าเศรษฐกิจดี แต่ก็เป็นนักพัฒนาที่ได้รับการยอมรับของภาคประชาสังคมลาว อีกทั้งในเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีการประชุมเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ในลาว ซึ่งมีการประชุมภาคประชาสังคมที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลลาวเกิดขึ้นเป็นคู่ ขนานไปด้วย สมบัดก็เป็นประธานในการประชุม ตามโรงแรมต่างๆ ในลาวตอนนั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศของการประชุม และในการถกเถียงนี้ก็มีการพูดถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเผ็ดร้อน จนในที่สุดหัวหน้าองค์กรเอ็นจีโอจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถูกยื่นคำขาดให้ออกจากประเทศลาวใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ก็เพราะเขามีข้อคิดเห็นในลักษณะที่ไม่เชื่อมั่นในทิศทางการพัฒนาของ ลาว เพราะฉะนั้นนายวิฑูรย์จึงเห็นว่า การหายตัวไปของนายสมบัดไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ทำให้คนที่ทำเพื่อสังคมเกิดความกลัว จนอาจไม่กลับมาทำงานภาคประชาสังคมอีก

นาย วิฑูรย์เห็นว่า แม้ขณะนี้ความสนใจของประชาคมโลกกำลังมุ่งไปที่ลาว แต่เราก็ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ เลย นอกจากการปฏิเสธว่าไม่รู้ของรัฐบาลลาว จึงไม่มีความคืบหน้า ไม่รู้ว่าสมบัดยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ อยู่ที่ไหน ถูกใครควบคุมไว้ เราจึงเหมือนถูกปิดกั้นด้วยกำแพงหนาทึบให้มองไม่เห็นอะไรเลย ณ วันนี้ อย่างน้อยที่สุดจึงอยากให้รัฐบาลลาวตอบคำถามได้ว่า ไม่ใช่ผู้ต้องสงสัย