10 ปี การหายตัวของ ‘สมบัด สมพอน’ ประชาสังคมโลก ทวงถาม รัฐบาลลาว ‘สมบัดหายไปไหน’

ประชาไท: 16 ธ.ค. 2022

สมบัด สมพอน

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 10 ปี ที่สมบัด สมพอน นักกิจกรรม ภาคประชาสังคมลาวหายตัวไป ก่อนหน้าเมื่อไม่นานมานี้กลุ่มองค์กร ภาคประชาสังคมจากทั่วโลกรวม 66 องค์กรและบุคคลอื่น ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลลาวให้ความกระจ่าง ถึงชะตากรรมของสมบัด ในเรื่องที่เขาถูกนำตัวไปอยู่ที่ไหนอย่างไร และให้ความเป็นธรรม ให้ข้อเท็จจริง รวมถึงมีการชดเชยแก่ครอบครัวของสมบัดด้วย

สมบัด สมพอน เป็นคนที่ทำงานภาคประชาสังคมในด้านการพัฒนาและการส่งเสริมให้เยาวชน สื่อบางแห่งนับว่าเขาเป็นผู้บุกเบิกองค์กรภาคประชาสังคมที่มีชื่อเสียงที่สุดในลาว เหตุการณ์หายตัวไปของสมบัดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2555 เขาถูกสั่งให้หยุดที่ด่านตรวจแห่งหนึ่งในย่านรอบนอกของเมืองหลวงเวียงจันทร์ ภาพจากกล้องวิดีโอวงจรปิดแสดงให้เห็นว่าหลังจากนั้นก็มีคนนำตัวสมบัดไปขึ้นรถอีก คันหนึ่ง แล้วก็ไม่มีใครพบตัวเขาอีกเลย

หลังจากที่สมบัดหายตัวไป ประเทศสหรัฐฯ และรัฐบาลตะวันตกอื่นๆ ได้เรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลลาวจะเคยสัญญาว่าจะทำ แต่ก็ไม่เคยทำอะไรให้เกิดความคืบหน้าในคดีนี้เลย โดยที่ในแถลงการณ์ขององ ค์กรภาคประชาสังคมระบุว่าการหายตัวไปของสมบัดนับเป็น “การละเมิดสิทธิ มนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นอาชญากรรมภายใต้กฎหมายนานาชาติ”

แถลงการณ์ขององค์กรภาคประชาสังคม ระบุว่า พวกเขาได้ “กดดันให้มีความยุติธรรมและการตรวจสอบได้ในเรื่องนี้มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว … และในตอนนี้พวกเขาก็ ร่วมกันถามคำถามง่ายๆ และตรงไปตรงมาถึงรัฐบาลลาวว่า ‘สมบัดหายไปไหน’ ”

แถลงการณ์ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุถึงกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ที่สมบัดหายตัวไป เช่นการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของ สหประชาชาติเคยเรียกร้องให้ทางการลาวเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการสืบสวน การหายตัวไปของสมบัด โดยเฉพาะต่อครอบครัวของเขา ในการประชุมพิจารณาเรื่อง การบรรลุผลด้านสิทธิมนุษยชน UPR มีประเทศสมาชิกของยูเอ็น 11 ประเทศ ได้เสนอให้รัฐบาลลาวทำการสืบสวน การหายตัวไปของสมบัด

ในปี 2561-2562 หน่วยงานของยูเอ็นก็ยังคงคอยติดตามผลในเรื่องการหายตัวไปของสมบัด โดยที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่าพวกเขาเสียดายที่มีลาวให้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เล็กน้อยมาก จนถึงในปี 2564 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ยังคงส่งสารไปถึงรัฐบาลลาวเรียกร้อง ขอข้อมูลของสมบัดและเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องการอุ้มหายที่เกิดขึ้น

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าถึงแม้ประชาคมโลกที่มีความเป็นห่วงอย่างมากต่อเรื่องสมบัด รัฐบาลลาวกลับโต้ตอบการเรียกร้องของพวกเขาด้วยความเฉื่อยชา, การละเลย, การปกปิด และออกแถลงการณ์ในเชิงที่ชวนให้ไขว้เขว รวมถึงการขาดเจตจำนง ทางการเมืองในการที่จะแก้ไขปัญหาการบังคับให้สูญหายในกรณีของสมบัดด้วย

แถลงการณ์องค์กรภาคประชาสังคมระบุว่า “รัฐบาลลาวล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการที่จะรักษาพันธกรณีด้านกฎหมายนานาชาติในการสืบสวนสอบสวนการหายตัวไปขอสมบัดและนำตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะส่วนรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเที่ยงตรงผ่านศาลพลเรือนทั่วไป รวมถึงที่อยู๋ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งลาวเป็นประเทศสมาชิกด้วย”

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า ถึงแม้ลาวจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่าง ประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หาย สาบสูญ (ICPPED) ที่มีการลงนามไว้เมื่อปี 2551 แต่ภาคใต้กฎหมายนานาชาติแล้ว ลาวยังคงมีพันธกรณีที่จะไม่ทำตัวขัดต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายของอนุสัญญานี้

กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมลงนามในครั้งนี้มีอาทิเช่น 11.11.11-Belgium, แอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนล, ARTICLE 19, สมาพันธ์ผู้สูญหายแห่งเอเซีย (AFAD), ศูนย์เพื่อสิทธิผู้ต้องขัง (CPR), สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH), ฮิวแมนไรท์วอทช์, ไอลอว์, ฟอร์ติฟายไรท์, มูลนิธิมานุษยะ, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) และองค์กรอื่นๆ

นอกจากองค์กรภาคประชาสังคมแล้ว สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่ง สหประชาชาติ (OHCHR) ยังได้เรียกร้องให้มีการสืบสวนและให้ความกระจ่างในเรื่องสมบัด โดยระบุว่า ควรจะมีการสืบสวนกรณีของสมบัด “อย่างน่าเชื่อถือ โดยฉับไว อย่างละเอียด และเป็นอิสระ ปราศจากความลำเอียง” รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลลาวขอความช่วยเหลือจากนานาชาติและความร่วมมือทางเทคนิคใน การตรวจสอบพิจารณาหลักฐานและช่วยเหลือด้านการค้นหาสมบัดในแบบที่ “โปร่งใสและมีส่วนร่วม เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.